ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี


มหาชาติ เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ที่ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรและเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนไทยรู้จักและคุ้ยเคยกับมหาชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังที่ปรากฏในหลักฐานในจารึกนครชุม
ผู้แต่ง เจ้าพระยาพระคลัง(หน)
ลักษณะการแต่ง ความเรียงร้อยแก้ว ร่ายยาว กลบท กลอนพื้นบ้าน
ความย่อกล่าวถึงพระนางมัทรีเข้าป่าหาผลไม้ แล้วเจอเหตุการณ์มหัศจรรย์ต่าง ๆ จึงเดินทางกลับอาศรม ก็เกิดพายุใหญ่ มืดครึ้มไปทั่วบริเวณ อีกทั้งยังมีสิงห์สาราสัตว์ร้าย มาขวางทางไว้ เมื่อมาถึงอาศรมได้ทราบความ ทำให้พระองค์เสียพระทัยมาก จนสลบไป หลังจากฟื้นคืนสติกลับมา พระนางก็อนุโมทนากับพระเวสสันดรด้วย

เนื้อเรื่องรุ่งเช้าพระนางมัทรี เข้าป่าหาผลไม้ "เกิดเหตุแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ผลไม้เผือกมันช่างหายากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นมะม่วงมัน ลูกจันทน์ ลิ้นจี่ น้อยหน่า สาลี่ ละมุด พุทรา ไม่มีให้เก็บเหมือนดังกับวันก่อน นางรีบย้อนกลับเคหา ก็เกิดพายุใหญ่ จนมืดครึ้มไปทั่วทั้งป่า ท้องฟ้าสีแดงปานเลือดละเลง ทั้งแปดทิศปรากฎมืดมนไปหมดอย่างไม่เคยมี พระนางทรงห่วงหน้าพะวงหลัง เกรงจะมีภัยแต่พระเวสสันดรา กัณหาและชาลี
พระนางมัทรีรีบยกหาบใส่บ่ารีบเดินทาง พอถึงช่องแคบระหว่างเขาคีรี เป็นตรอกน้อยรอยวิถีทางที่เฉพาะจะต้องเสด็จผ่าน ก็พบกับสองเสือสามสัตว์มานอนสกัดหน้า เทวดาสามองค์แปลงร่างเป็นราชสีห์ เสือเหลือง เสือโคร่งสกัดทางนางไว้เพื่อมิให้พระนางมัทรีติดตามกัณหา ชาลีได้ทัน แต่ถึงกระนั้น เมื่อยามทุกข์เข้าบีบคั้น ความรักลูก ความห่วงพระภัสดา พระนางจึงก้มกราบวิงวอน ขอหนทางต่อพญาสัตว์ทั้งสาม เมื่อได้หนทางแล้ว พระนางก็รีบเสด็จกลับอาศรม 

เมื่อมาถึงอาศรมไม่พบกัณหา ชาลี พระนางก็ร้องเรียกหาว่า
"ชาลี กัณหา แม่มาถึงแล้ว เหตุไฉนไยพระลูกแก้ว จึงไม่มารับเล่าหลากแก่ใจ แต่ก่อนร่อนชะไรสิพร้อมเพรียง เจ้าเคยวิ่งระรี่เรียงเคียงแข่งกันมารับพระมารดา เคยแย้มสรวลสำรวจร่า ระรื่นเริงรีบรับเอาขอคาน แล้วก็พากันกราบกรานพระชนนี พ่อชาลี ก็จะรับเอาผลไม้ แม่กัณหาก็จะอ้อนวอนไหว้จะเสวยนม ผทมเหนือพระเพลาพลาง เจ้าเคยฉอเลาะแม่ต่าง ๆ ตามประสาทารกเจริญใจฯ"
บัดนี้ลูกรักทั้งคู่ไปไหนเสีย จึงมิมารับแม่เล่า ครั้นเข้าไปถามพระเวสสันดรก็ถูกตัดพ้อต่อว่าต่าง ๆ จนพระนางมัทรีถึงวิสัญญีภาพสลบลง พระเวสสันดรทรงปฐมพยาบาลจนพระนางมัทรีฟื้น แล้วจึงแจ้งความจริงว่า พระองค์ได้ทรงยกลูกรักชายหญิงทั้งสอง มอบให้แก่ชูชกไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน พระนางก็อนุโมทนาซึ่งทานนั้นด้วย


คุณค่าด้านวรรณศิลป์ที่ปรากฏในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มัทรี


๑.การใช้ธรรมชาติเปรียบกับความทุกข์โศกของพระนางมัทรี
เนื้อหากัณฑ์มัทรีนี้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับพระนางมัทรีอย่างชัดเจน สภาพธรรมชาติที่แตกต่างไปจากปกติ แสดงให้เห็นว่าเป็นลางบอกเหตุแก่พระนางมัทรีว่าจะเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้น ดังว่า

“…เหตุไฉนไม้ที่มีผลเป็นพุ่มพวง ก็กลับกลายเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร แถวโน้มก็แก้วเกดพิกุลแกมกับกาหลง ถัดนั่นก็สายหยุดประยงค์และยมโดย พระพายก็พัดร่วงโรยรายดอกลงมูนมอง แม่ยังได้เก็บเอาดอกมาร้อยกรองไปฝากลูกเมื่อวันวาน ก็เพี้ยนผิดพิสดารเป็นพวงผลผิดวิกลแต่ก่อนมา (สพฺพามุยฺหนฺติ เม ทิสา) ทั้งแปดทิศก็มืดมนทุกหนแห่ง ทั้งขอบฟ้าก็ดาษแดงเป็นสายเลือดไม่วนนวายหายเหือดเป็นลางร้ายไปรอบข้าง…” และ

“…โอ พระอาศรมเจ้าเอ๋ยน่าอัศจรรย์ใจ แต่ก่อนดูนี่สุกใสด้วยสีทอง เสียงเนื้อนกนี่ร่ำร้องสำราญรังเรียกคู่คูขยับขัน ทั้งจักจั่นพรรณลองไนเรไรร้องอยู่หริ่งๆ ระเรื่อยโรย โหยสำเนียงดั่งเสียงสังคีตขับประโคมไพร โอ…เหตุไฉนเหงาเงียบเมื่อยามนี้ ทั้งอาศรมก็หมองศรีเสหมือนหนึ่งว่าจะเศร้าโศก เออ ชะรอยว่าพระเจ้าลูกจะวิโยคพลัดพรากไปจากอกพระมารดาเสียจริงแล้วกระมังในครั้งนี้…”

ลักษณะธรรมชาติมีอารมณ์ร่วมทุกข์ในตัวละครมักปรากฏในวรรณคดีไทยถือเป็นกลวิธีการแต่งประการหนึ่งที่เน้นย้ำความทุกข์และความเศร้าโศรกของตัวละครหรือการที่ ตัวละครใช้ธรรมชาติเป็นที่ระบายความทุกข์ เช่น

“…จึ่งตรัสว่าน้ำเอ๋ยเคยมาเปี่ยมขอบเป็นไรจึ่งขอดข้นลงขุ่นหมองพระพายเจ้าเอ๋ยเคยมาพัดต้องกลีบอุบล พากกลิ่นสุคนธ์ขจรรสมารวยรื่นเป็นไรจึ่งเสื่อมหอมหายชื่นไม่เฉื่อยฉ่ำฝูงปลาเอ๋ยเคยมาผุดคล่ำดำแฝงฟองบ้างก็ขึ้นล่องว่ายเลื่อนชมแสงเดือนอยู่พราย ๆ เป็นไรจึ่งไม่ว่ายเวียน นกเจ้าเอ๋ยเคยบินลงไล่จิกเหยื่อทุกเวลา วันนี้แปลกเปล่าตาแม่แลไม่เห็น…”

๒.การเล่นเสียง
๒.๑ การเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะเสียงเดียวกันต่อๆ กันหลายคำ เช่น
“ ก็กลายเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร”
“ สะดุ้งพระทัยไหวหวาดวะหวีดวิ่งวนแวะเข้าข้างทาง พระทรวงนางสั่นระรัวริกเต้นดั่งตีปลา”
“ พระองค์เห็นพิรุธร่องรอยร้าวรานที่ตรงไหน ทอดพระเนตรสังเกตไว้แต่ปางก่อนจึงเคือง ค่อนด้วยคำหยาบยอกใจเจ็บจิตเหลือกำลัง”
“ พระพายรำเพยพัดมาฉิวเฉื่อย เรไรระรี่เรื่อยร้องอยู่หริ่งๆ”
“ ครั้นจะลีลาหลีกตัดเดาไปทางใดก็เหลือเดิน ทั้งสองข้างเป็นโขดเขินขอบคันขึ้นกั้นไว้”

๒.๒ การเล่นเสียงสัมผัสสระ ที่เป็นเสียงเสนาะอันเกิดจากการเล่นเสียงสระ เช่น
“ นางก็ถึงวิสัญญีสลบลงตรงหน้าฉาน ปานประหนึ่งว่าพุ่มฉัตรทองอันต้องสายอัสนีฟาดระเนนเอนก็ล้มลงตรงหน้าพระที่นั่งเจ้า นั้นแล”

๒.๓ การเล่นทั้งเสียงสัมผัสพยัญชนะและสระ เช่น
“ แม่ยังกลับหลังมาโลมลูบจูบกระหม่อมจอมเกล้าทั้งสองเรา”
“ เจ้าเคยเคียงเรียงเคียงหมอนนอนแนบข้างทุกราตรี”
“ โอ้แม่อุ้มท้องประคองเคียงเลี้ยงเจ้ามาก็หมายมั่น”


๓.การเล่นคำ
มีการเล่นคำที่เรียกว่า “สะบัดสะบิ้ง” ซึ่งจะคำแบ่งคำออกเป็นสองกลุ่มเท่าๆ กัน แล้วซ้ำคำเดียวกันที่มีเสียงสระสั้นในพยางค์หน้า ส่วนพยางค์หลังเล่นเสียงพยัญชนะเดียวกันแต่ต่างเสียงสระกัน ก่อให้เกิดจังหวะคำที่ไพเราะ เช่น คำว่า “สะอึกสะอื้น” ในข้อความว่า 
 “พระนางยิ่งหมองศรีโศกกำสรดสะอึกสะอื้น” และคำว่า “ตระตรากตระตรำ” ในข้อความว่า “อุตสาหะตระตรากตระตรำเตร็ดเตร่หาผลาผลไม้” และการเล่นคำซ้ำดังนี้

“…ควรจะสงสารเอ่ยด้วยต้นหว้าใหญ่ใกล้อาราม งามด้วยกิ่งก้านประกวดกัน ใบชอุ่มเป็นชุ่มช่อเป็นฉัตรชั้นดั่งฉัตรทอง แสงพระจันทร์ดิ้นส่องต้องน้ำค้างที่ขังให้ไหลลงหยดย้อย เหมือนหนึ่งน้ำพลอยพร้อยๆ อยู่พรายๆ … พระพายรำเพยพัดมาฉิวเรื่อย เรไรระรี่เรื่อยร้องอยู่หริ่งๆ”
๔.การใช้ภาพพจน์
ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรีเป็นกัณฑ์ที่มีความไพเราะเป็นอย่างยิ่งอีกทั้งการใช้ถ้อยคำสละสลวยทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพด้วยการเลือกสรรความเรียงลักษณะต่างๆ โดยสื่อผ่านภาพพจน์ในหลายลักษณะ คือ
๔.๑ การใช้ภาพพจน์แบบอุปมา เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง เช่น
เปรียบเทียบพระทัยเต้นระทึกของพระนางมัทรีกับกายอันสั่นรัวของปลาที่ถูกตี ดังปรากฏในเนื้อความว่า “พระทรวงนางสั่นระริกดั่งตีปลา” เปรียบความเจ็บปวดพระทัยของนางมัทรีที่พระเวสสันดรไม่ยอมตรัสตอบว่าราวกับถูกแทงด้วยเหล็กเผาไห หรือมิเช่นนั้นก็ราวกับแพทย์เอายาพิษให้คนไข้ที่มีอาการหนักอยู่แล้วกิน ทำให้อาการทรุดเพียบหนักลงไปอีก ซึ่งคงจะรอดชีวิตได้ยาก ดังปรากฏในเนื้อความว่า 
“นางก็เศร้าสร้อยสลดพระทัยดั่งเอาเหล็กแดงมาแทงใจให้เจ็บจิตนี่เหลือทน อุปมาเหมือนคนไข้หนักมิหนำยังแพทย์เอายาพิษมาวางซ้ำให้เวทนา เห็นชีวานี้คงจะไปไม่รอดสักกี่วัน”

“…พ่อชาลีเจ้าเลือกเอาผลไม้ แม่กัณหาฉะอ้อนวอนไหว้จะเสวยนม ผทมเหนือพระเพลาพลางฉอเลาะแม่นี้ต่างๆ ตามประสาทารกเจริญใจ (วจฺฉา พาลาว มาตรํ) มีอุปไมยเสมือนหนึ่งลูกทรายทรามคะนอง”

“…โหยสำเนียงดั่งเสียงสังคีตขับประโคมไพร โอ เหตุไฉนเหงาเงียบเมื่อยามนี้ ทั้งอาศรมก็หมองศรีเสมือนหนึ่งว่าจะเศร้าโศก”

“…ทั้งลูกรักดั่งแก้วตาก็หายไป อกเอ๋ยจะอยู่ไปไยให้ทนเวทนา อุปมาเสมือนหนึ่งพฤกษาลดาวัลย์ย่อมจะอาสัญลงเพราะลูกเป็นเที่ยงแท้…”
๔.๒ การใช้ภาพพจน์แบบอุปลักษณ์ เป็นการเปรียบว่าอีกสิ่งหนึ่ง “เป็น” หรือ “คือ” อีกสิ่งหนึ่ง เช่น
“หวังว่าจะเป็นเกือกทองฉลองบาทยุคลทั้งคู่แห่งพระคุณผัว”
“ก็น้ำใจของมัทรีนี้กตเวทีเป็นไม้เท้าก้าวเข้าสู่ทางทดแทน”
๔.๓ การใช้ภาพพจน์แบบสัทพจน์เป็นการเลียนเสียง
นอกจากนี้ยังมีการใช้สัทพจน์หรือคำเลียนเสียง ทำให้ข้อความมีชีวิตชีวานิ่งขึ้น เช่น
“แต่ย่างเหยียบเกรียบกรอบก็เหลียวหลัง”
“สมเด็จอรไทเธอเที่ยวตะโกนกู่กู๋ก้อง”
“เสียงนกนี่ร่ำร้องสำราญรังเรียกคู่คูขยับขันทั้งจักจั่นพรรณลองไนเรไรร้องอยู่หริ่งๆ ระเรื่อยโรย”

๔.๔ การใช้ภาพพจน์แบบบุคลวัต เป็นการใช้ภาพพจน์ที่มีชีวิตที่มิใช่มนุษย์และสิ่งไม่มีชีวิต ทำกิริยาอาการเลียนแบบมนุษย์ เช่น
“ได้ยินแต่เสียงดุเหว่าละเมอร้องก้องพนาเวศ”
“ทั้งพื้นป่าพระหิมพานต์ก็ผิดผันหวั่นไหวอยู่วิงเวียน”
“เสียงเนื้อนกนี่ร่ำร้องสำราญรังเรียกคู่คูขยับขัน”

คุณค่าด้านสังคม

๑.สะท้อนค่านิยมเกี่ยวกับสังคมไทย ในสมัยโบราณถือว่าภรรยาเป็นทรัพย์สมบัติของสามี
สามีมีสิทธิ์เหนือภรรยาทุกประการ ถ้าสามีเป็นกษัตริย์ อำนาจนั้นก็มากขึ้น 
ดังคำที่พระเวสสันดรตรัสแก่นางมัทรีว่า

“...เจ้าเป็นแต่เพียงเมียควรหรือมาหมิ่นได้ ถ้าแม้นพี่อยู่ในกรุงไกรเหมือนแต่ก่อนเก่า
หากว่าเจ้าทำเช่นนี้ กายของมัทรีก็จะขาดสะบั้นลงทันตาด้วยพระกรเบื้องขวา
ของอาตมานี้แล้วแล..”

นอกจากนี้ผู้หญิงจะต้องปรนนิบัติสามี ซื่อสัตย์ต่อสามี ส่วนลูกนั้นถือเป็นสมบัติของพ่อแม่
ต้องเครารพเชื่อฟัง และพ่อแม่สามารถยกลูกให้ผู้อื่นได้

๒.สะท้อนให้เห็นธรรมชาติของมนุษย์ ความรักนำมาซึ่งความทุกข์ ความโศกเศร้าเสียใจเช่น 
 เมื่อลูกพลัดพรากจากไปพ่อแม่ย่อมมีความทุกข์เพราความรัก ความเป็นห่วง กังวล โศกเศร้า 
เมื่อคิดว่าลูกของตนล้มหายตายจากไป แต่ความโศกเศร้า เสียใจจะบรรเทาลงได้เมื่อมี
ความโกรธ เจ็บใจ หรือเมื่อเกิดความเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นทำ

ตัวอย่างเช่น ตอนที่พระเวสสันดรกล่าวบริภาษนางมัทรี เพื่อให้นางมัทรีจึงโกรธจน
ลืมความโศกเศร้า

“...สมเด็จพระราชสมภาร เมื่อได้สดับสารพระมัทรีเธอแสนวิโยคโศกศัลย์สุดกําลัง 
 ถึงแม้นจะมิตรัสแก่นางมั่งจะมิเป็นการ จําจะเอาโวหารการหึงเข้ามาหักโศกให้เสื่อมลง
จึ่งเอื้อนโองการตรัสประภาษว่า....”

๓.สะท้อนความเชื่อของสังคมไทย จากข้อความตอนที่พระนางมัทรีออกสู่ป่าเพื่อหาเก็บ
ผลไม้ ผลไม้ก็เพี้ยนผิดปกติ ซึ่งถือว่าเป็นลางร้าย จากความในบทประพันธ์ว่า

“...เหตุไฉนไม้ที่มีผลเป็นพุ่มพวง ก็กลายกลับเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร
แถวโน้นนั่นแก้วเกดพิกุลแกมกับกาหลง ถัดไปก็สายหยุดประยงค์แลยมโดยยามพระพายพัด
เคยร่วงโรยรายดอกลงมูนมอง แม่ยังได้เก็บมาร้อยกรองไปฝากลูกเมื่อ
วันวาน ก็เพี้ยนผิดพิสดารเป็นพวงผล สพฺพา มุยฺหนฺติ เม ทิสา ทั้งแปดทิศก็มืดมัวทั่ว
ทุกแห่ง ทั้งขอบฟ้าก็ดาดแดงเป็นสายเลือด ไม่เว้นวายหายเหือดเป็นลางร้ายไปรอบข้าง
ทกฺขิณกฺขิ นัยน์ตาขวาก็พร่างๆอยู่พรายพร้อย ดูจิตใจของแม่นี้ยังน้อยอยู่นิดเดียว
ทั้งอินทรีย์ก็เสียวๆ สั่นระรัวริก สาแหรกคานบันดาลพลิกดลงจากบ่าทั้งขอน้อยในหัตถา
ที่เคยถือ ก็หลุดหล่นลงจากมือไม่เคยเป็นเห็นอนาถ....”

แปลความเป็นลางร้าย ๙ ประการ ได้แก่
๑. ไม้ผลกลับกลายเป็นไม้ดอก 
๒. ไม้ดอกกลับกลายเป็นไม้ผล 
๓. มืดมัวไปทั่วทั้ง ๘ ทิศ คือ อุดร อีสาน บูรพา อาคเนย์ ทักษิณ หรดี ปัจจิม พายัพ 
๔. เขม่นตาขวา 
๕. ใจเหมือนจะขาด 
๖. ขอบฟ้ากลายเป็นสีแดงสายเลือด 
๗. กายรู้สึกเสียวๆ สั่นๆ 
๘. ขอที่ใช้สอยผลไม้หลุดลงจากมือ 
๙. ไม้คานพลิกลงจากบ่า

๔.สะท้อนเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี อันเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา
โดยเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก เป็นชาดกที่พุทธศาสนิกชนนิยมนำมาเล่าขานจัดเป็น
งานเทศน์มหาชาติกันทุกปีมาตั้งแต่ครั้งอดีต โดยจัดสถานที่ให้สอดคล้องกับเรื่องราวให้เป็น
ป่าที่อุดมไปด้วยไม้ผล บางแห่งก็จัดตกแต่งภาชนะใส่เครื่องกัณฑ์เทศน์เป็นรูปต่างๆที่
สอดคล้องกับเนื้อเรื่องกัณฑ์นั้นๆ เช่น ทำรูปเรือสำเภาบูชากัณฑ์กุมาร จัดเป็นรูป
กระจาดใหญ่ใส่เสบียงอาหารและผลไม้ต่างๆ บูชากัณฑ์มหาราช บางแห่งก็จัดกัณฑ์เทศน์กัน
อย่างใหญ่โตในเชิงประกวดประชันกัน มีการบรรเลงดนตรีไทยประกอบเพื่อช่วยสร้างอารมณ์
ร่วมให้กับผู้ฟังเทศน์ ทั้งนี้พระสงฆ์ที่มาเป็นผู้เทศน์จะเป็นพระสงฆ์ที่เทศได้อย่างไพเราะ
ใช้ภาษาง่ายๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้ฟังทุกเพศทุกวัย บางครั้งก็มีการเทศน์แหล่ด้วยปัจจุบัน
เทศน์มหาชาติจัดเป็นงานประจำปีของทุกท้องถิ่นทั่วทุกภาในประเทศไทย









อ้างอิง
https://www.youtube.com/watch?v=tiAcXvGJLC4
https://sites.google.com/site/wannakadeem5/mha-wessandr-chadk-kanth-math-ri
https://jirawanjane.wordpress.com/%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มัทนะพาธา

มัทนะพาธา เป็นบทละครพูดคำฉันท์ 5 องก์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2466 เล่าเรื่องว่าด้วยตำนานเกี่ยวกับดอกกุหลาบ

เชี่ยวหลาน กุ้ยหลินเมืองไทย

เขื่อนเชี่ยวหลาน  หรือ  เขื่อนรัชชประภา   แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับฉายาว่าเป็นกุ้ยหลินเมืองไทย  ตั้งอยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  เพราะมีความสวยงามของเทือกเขาหินปูนที่เหมือนกันกับกุ้ยหลินที่ประเทศจีน